ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในการติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย และภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย Featured

22-09-2565 Written by 

ปลัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในการติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย และภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย
วันนี้ (31 สิงหาคม 2565) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมพรหมวรราช ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย และภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยที่ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย นายอำเภอ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ โดยนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้รายงานผลการขับเคลื่อนนโยบายและภารกิจสำคัญของจังหวัด จำนวน 11 ประเด็น ดังนี้
1. การขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี
2. แบบสำรวจข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในหมู่บ้าน รายครัวเรือน ผ่านระบบ Thai QM
3. โคก หนอง นา
4. การบริหารจัดการขยะมูลฝอยของจังหวัดอุบลราชธานี
5. บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง และกิจกรรมทางนี้มีผลผู้คนรักกัน
6. การรณรงค์สวมใส่ผ้าไทย
7. การขับเคลื่อนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุน ระหว่าง วัด และ ชุมชน ให้มีความสุขอย่างยั่งยืน จังหวัดอุบลราชธานี (MOU)
8. การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs
9. การสร้างการรับรู้ด้านประชาสัมพันธ์
10. สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
11. การรับมือสถานการณ์อุทกภัย
ในการนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้รับทราบผลการขับเคลื่อนนโยบายและภารกิจสำคัญของจังหวัดข้างต้น พร้อมกับได้มอบนโยบายให้กับจังหวัด ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และอำเภอ ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้
1. ผู้ปฏิบัติงานหรือข้าราชการ ต้องมีความเชื่อมั่นและมีอุดมการณ์ในการทำงาน จะต้องรู้ว่าตนเองเป็นใคร มีหน้าที่ความรับผิดชอบอะไร ต้องสำนึกว่าตนเป็น "ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" และต้องทำงานหรือปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลพสกนิกรของพระองค์ให้มีความสุข "อย่างยั่งยืน" โดยการ "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" ให้กับประชาชนในพื้นที่
2. การทำงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ต้องเป็น "นายกรัฐมนตรี" ในจังหวัด เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนงานของ "ทุกกระทรวง" เพื่อสนองต่อการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และสร้าง "ทีมงาน" ในการทำงานโดยการประสานบูณาการกับหน่วยงานทุกกระทรวง/กรม ในพื้นที่ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
3. การสร้างทีมงาน สร้างทีมงานภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่าย 7 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ภาคราชการ นักวิชาการ ผู้นำศาสนา นักธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และสื่อมวลชน เพื่อให้การทำงานหรือการขับเคลื่อนนโยบายสามารถดำเนินการได้อย่างสำเร็จบรรลุผล และมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการสื่อสาร การสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในทุกช่องทางและทุกมิติ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ถึงภารกิจและนโยบายสำคัญของรัฐ และสามารถเข้าถึงช่องทางในการรับบริการหรือรับการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ โดยอาศัยการสื่อสารผ่านภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันมีเป้าหมายสำคัญ คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน ในช่วงท้าย ได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในเรื่อง "อารยเกษตร" ให้กับส่วนราชการ อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อมนำไปปฏิบัติ และใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกตำบล หมู่บ้าน อำเภอ ให้มีความสุขอย่างยั่งยืนสืบไป

 

 

 

 

 

Read 185 times
Rate this item
(0 votes)

Leave a comment

ทำเนียบผู้บริหาร